เหมือนจะยังคงต้องสู้ต่ออีก สำหรับเจ้าของวลี “ผมเจ็บมาเยอะ” สมจิตร จงจอหอ อดีตนักชกฮีโร่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง สธารณรัฐประชาชนจีน ที่ล่าสุดเพิ่งออกมาเปิดอกอย่างหมดเปลือก ถึงสถานการณ์ภายในครอบครัว ที่ “อุ๋ม” ศศิธร จงจอหา ภรรยา กำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นจากการป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หลังจากรักษาตัวมากกว่า 2 ปี อีกทั้งลูกชายคนแรกที่กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัย ปี 3 ก็ต้องดร็อปเรียน ด้วยเหตุที่มีพัฒนาการที่ช้ากว่าคนรุ่นเดียวกัน
เรียกได้ว่าชีวิตดาราอารมณ์ดี เผชิญมรสุมชีวิตมาพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่ก่อนที่ยอดมวยรายนี้จะมาถึงจุดนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง เขาต้องอุปสรรคขนาดไหน วันนี้เรามาย้อนดูกัน
ด.ช.สมจิตร จงจอหอ ลืมตามาดูโลกเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2518 ที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นลูกคนสุดท้ายจากพี่น้องทั้ง 7 คน ทั้งครอบครัวตั้งสมญานามว่า “นายน้อย”
ชีวิตในวัยเด็กของ “นายน้อย” นอกจากการการเรียนหนังสือ ก็มีเรื่องหมัด ๆ มวย ๆ นี่แหละ เขาได้รับการฝึกฝนจากค่ายมวยเล็ก ๆ กลางทุ่งนาที่ชื่อ “ลูกโคกรัก” โดยมีพ่อของเขามาเป็นครูฝึก ซึ่งนักมวยในสังกัดทั้งหมด ใช้นามสกุลเดียวกัน ‘จงจอหอ’ นายน้อยยอมรับว่ารู้สึกสนุกที่ได้ออกกำลังกับญาติของตน
นายน้อยประเดิมสังเวียนแรกเมื่ออายุ 10 ขวบ เหตุเกิดจากการที่เขาไปเห็น “ปืนแก๊ป” ที่ขายอยู่ในงานวัดแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ด้วยความเป็นเด็ก จึงทำได้แต่วิงวอนขอเงินจากผู้เป็นแม่ แต่ถูกปฏิเสธอย่างทันควัน แต่ด้วยเลือดนักสู้และวิชามวยที่สั่งสมมา จึงให้พี่ชายพาไปเปรียบมวยในงาน สุดท้ายตัวเขาก็ได้เงินค่าตัว มาซื้อปืนแก๊ปควงกลับบ้านได้สำเร็จ
หลังจากวันนั้น ชีวิตของ สมจิตร จงจอหอ ได้เดินสายชกมวยมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นมวยระดับค่าตัวหลายหมี่นในชื่อ ศิลาชัย ว.ปรีชา แต่ชีวิตพ่อค้ากำปั้นในแบบมวยไทยไม่พุ่ง บวกกับการเป็นมวยฝีมือจัดจ้าน ชกยาก ทำให้ในรุ่นเดียวกันไม่มีตัวสู้ ต้องแบกน้ำหนักชกกับมวยตัวใหญ่กว่าอยู่บ่อย ๆ พอเริ่มแพ้ติด ๆ กัน ชีวิตบนฝืนผ้าใบของ สมจิตร ก็ดูเหมือนจะมาถึงทางตัน
จนกระทั่งวันหนึ่ง เหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต สมจิตร ได้เจอกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อได้มีโอกาสขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่นในโครงการ “มวยดาวรุ่งมุ่งโอลิมปิก” ทั้งที่ไม่เคยชกมวยสากลมาก่อน แต่ไอคิวและฝีมือของเขา เข้าตาบรรดาทีมมวยของ 4 เหล่าทัพ ก่อนที่จะเป็นกองทัพบก ที่ได้ตัว สมจิตร ไปร่วมทีม ขณะที่เจ้าตัวก็ต่อยอดเข้าสู่ทำเนียบทีมชาติไทย
สมจิตร ใช้เวลาอยู่นาน กว่าจะขึ้นเป็นทีมชาติชุดใหญ่ได้ในปี 2540 แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาพลาดหวังกับในการคัดตัวไปโอลิมปิกเกมส์ 2000 ที่ซิดนีย์ ถึง 2 เลกติด ส่งผลให้ในรอบคัดเลือกเลกที่ 3 สมาคมตัดสินใจส่งมวยหน้าใหม่ในเวลานั้นอย่าง วิจารณ์ พลฤทธิ์ ไปชกแทน ก่อนที่ วิจารณ์ จะหักปากกาเซียนคว้าโควตาไปลุย “ซิดนีย์เกมส์” และก้าวไปถึงเหรียญทองได้อย่างเหลือเชื่อ
ขณะที่ สมจิตร นั้น จากตัวเต็ง เขากลายเป็นได้แค่คู่ซ้อม และได้แต่เฝ้ามองคู่ซ้อมของเขาขึ้นแท่นคว้าความสำเร็จ ในที่ๆ มันควรต้องเป็นของเขา
หลังผิดหวังจากโอลิมปิกเกมส์ 2000 สมจิตร ยังคงสู้ต่อ หลังจากที่ วิจารณ์ อำลาทีมชาติไป เขากลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของทีมชาติในรุ่นฟลายเวตอีกครั้ง แต่ความผิดหวังก็ยังคงเป็นของนักชกจาก จ.บุรีรัมย์ เมื่อเขาล้มเหลวอีกครั้งในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ สมจิตร ท้อแท้ถึงขั้นอยากแขวนนวม แต่ก็ได้ภรรยาที่คอยให้กำลังใจมาตลอด ทำให้เขายังสู้ต่อ
จนกระทั่งในโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ความเพียรพยายามของเขาก็สัมฤทธิผล จากครั้งก่อนหน้านี้ ถูกคาดหวังจากการเป็นตัวเต็ง ในครั้งนี้ สมจิตร มาในชกแบบไร้ความกดดัน และสุดท้ายก็คว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้สำเร็จ กลายเป็นฮีโร่ของคนไทยทั้งประเทศ
ในปัจจุบัน นอกจากรับราชการทหารยศพันโท สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยแล้ว ด้วยความเป็นคนเฮฮาอารมณ์ดี สมจิตร ยังมีงานในวงการบันเทิงประปราย รวมถึงงานการเป็นผู้บรรยายมวย นอกจากนี้ ยังมีกิจการร้านชาชักอยู่ที่โคราช และแม้ชีวิตจะเจอมรสุมอย่างที่เป็นข่าวล่าสุด แต่เชื่อว่า สมจิตร จะแข็งแกร่งพอที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในเวลานี้ไปได้ ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์ขอเป็นกำลังใจให้
เกียรติประวัติศบนผืนผ้าใบของ ‘สมจิตร จงจอหอ’
เหรียญทอง กรีนฮิลคัพ พ.ศ. 2541 ประเทศปากีสถาน
เหรียญทอง ซีเกมส์ พ.ศ. 2542 ประเทศบรูไน
เหรียญทอง ซีเกมส์ พ.ศ. 2544 ประเทศมาเลเซีย
เหรียญทอง ชิงแชมป์เอเชีย พ.ศ. 2545 ประเทศมาเลเซีย
เหรียญทอง เอเชี่ยนเกมส์ พ.ศ. 2545 ประเทศเกาหลีใต้
เหรียญทองแดง โกลเด้นเบลท์ พ.ศ. 2546 ประเทศโรมาเนีย
เหรียญทอง เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ พ.ศ. 2546 ประเทศไทย
เหรียญทอง ซีเกมส์ พ.ศ. 2547 ประเทศเวียดนาม
เหรียญทองแดง ชิงแชมป์เอเชีย พ.ศ. 2547 ประเทศฟิลิปปินส์คำพูดจาก สล็อต
เหรียญเงิน เอเชี่ยนเกมส์ พ.ศ. 2549 ประเทศกาตาร์
เหรียญทอง มวยทหารโลก พ.ศ. 2550 ประเทศแอฟริกาใต้
เหรียญทอง ซีเกมส์ พ.ศ. 2550 ประเทศไทย
เหรียญเงิน เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ พ.ศ. 2550 ประเทศสหรัฐอเมริกา
เหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 2008 กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน